วันศุกร์ที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2556

Marketing Essence: ลูกค้า ความต้องการ และการตอบสนอง

การทำตลาดจะมีแก่นอยู่ 3 สิ่งสำคัญที่... นักการตลาดต้องเข้าใจเป็นอย่างดีในการทำตลาด

นั่นคือ... ลูกค้า ความต้องการ และการตอบสนอง มาดูกันครับ 

จากบทความก่อน ผมได้กล่าวไว้ว่า
การตลาดคือ การตอบสนองความต้องการของลูกค้า
ซึ่งจากประโยคข้างต้นต้องมาศึกษากันต่อ ว่า

ลูกค้าคือใคร ???
ความต้องการของลูกค้าคืออะไร ???
แล้วเราจะตอบสนองความต้องการนั้นได้อย่างไร ???

แสดงว่าต้องรู้และเข้าใจในเรื่อง
 ลูกค้า ความต้องการ และการตอบสนอง

แล้ววันนี้เราทำธุรกิจหรือทำงานการตลาดอยู่ก็ตาม
เคยเข้าใจและใส่ใจกับสิ่งเหล่านี้บ้างไหม

ลองมาดูโจทย์นี้กันครับ
ถ้าเพื่อนๆ ทำธุรกิจเสื้อผ้าวัยรุ่น เพื่อนๆ คิดว่า
ลูกค้า ความต้องการของลูกค้า และการตอบสนองความต้องการของธุรกิจเสื้อผ้าวัยรุ่น เป็นอย่างไร
(สำคัญมากนะครับทุกๆ  ครั้งที่เราทำการตลาด ไม่ว่าจะทำให้กับบริษัท แบรนด์ หรือผลิตภัณฑ์ เราต้องตอบทั้ง 3 สิ่งนี้ให้ได้ก่อนเสมอ)

คำตอบของเพื่อนๆ คืออะไรครับ จะตอบเหมือนตัวอย่างข้างล่างนี้ รึเปล่า
ลูกค้า: กลุ่ม First Jobber, อายุ 22 – 28 ปี, รายได้ปานกลาง, อาศัยในเขตเมือง ฯลฯ
ความต้องการของลูกค้า: ต้องการสินค้าดูเท่ ทันสมัย ฯลฯ
การตอบสนองความต้องการ: การบริการที่ดี สินค้ามีแบรนด์ สินค้าทันสมัย ฯลฯ

ถ้าคล้ายๆ กัน ผมบอกได้เลยว่าคุณจะสอบผ่านวิชาหลักการตลาดแน่นอน

แต่เวลาทำงานจริง คงต้องปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์จริงได้ด้วย... อย่ายึดหลักการตลาดอย่างเดียว โดยขาดการมองสถานการณ์ให้ออก และใช้ข้อมูลและเหตุผลในการพิจารณาเรื่องลูกค้า ความต้องการของลูกค้า และการตอบสนองครับ

หากสนใจอยากรับฟังเรื่องลูกค้า ความต้องการของลูกค้า และการตอบสนอง... เชิญรับฟังได้จากคลิปด้านล่างนี้ได้เลยครับ



ติดตาม MarKeTing InDeed ClassRoom (MIC) ได้ทั้งหมด... ตั้งแต่ครั้งแรกจนถึงครั้งล่าสุดได้ที่ Link นี้ครับ...

ห้องเรียนการตลาด MarKeTing InDeed ClassRoom - Youtube
.
..
ครั้งหน้าเราจะมาเจาะรายตัวกันกับ ลูกค้า ความต้องการ และการตอบสนองครับ ^^

Wikran M.

หมายเหตุ: บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ หนังสือ The Invisible Hat ถอดหมวก... เปิดความคิด ชีวิตและการตลา


ติดตามบทความได้ทุกวันที่... 

วันพุธที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2556

Positioning... กลยุทธ์การตลาดที่ดีควรเริ่มต้นจากการกำหนดจุดยืน

Positioning... คือ สิ่งที่นักการตลาดต้องรู้... แต่จะรู้และเข้าใจขนาดไหน มาดูกันครับ


จุดยืน เรียกเท่ๆ แบบฝรั่งว่า “Positioning”
จุดยืน เปรียบเสมือน แก่นหรือเมล็ดพันธ์
อยากให้ธุรกิจเราเป็นอย่างไรอยากให้ลูกค้ามองเราแบบไหนอยากให้ผู้คนเห็นเรา นึกถึงเราอย่างไร
นั่นแหละครับคือ จุดยืน

ผมขอยกตัวอย่างให้เห็นภาพมากขึ้น เช่น...
จุดยืน DTAC คือ ความรู้สึกดี เมื่อใช้บริการ
จุดยืน AIS คือ ความอุ่นใจและความมั่นใจในบริการ

ซึ่งทุกคนพอนึกตามก็จะรู้สึกเห็นด้วยกับ จุดยืน ของตัวอย่างที่ผมยกไป
เพราะอะไรครับ

เพราะทั้ง DTAC และ AIS นำจุดยืนเหล่านี้ มาสร้างเป็นแบรนด์ เชื่อมต่อกับส่วนผสมการตลาด และทำการสื่อสารการตลาดเข้าถึงผู้คนได้อย่างมีประสิทธิภาพจึงทำให้จุดยืนของพวกเขาชัดเจนในใจผู้คนขนาดนี้

จุดยืนแบ่งได้เป็น 2 แบบใหญ่ๆ คือ
จุดยืนทางด้านอารมณ์ (Emotional Positioning)
จุดยืนทางด้านการใช้งาน (Functional Positioning)

ซึ่งปัจจุบันจะเน้นไปทาง จุดยืนทางด้านอารมณ์ มากกว่า จุดยืนทางด้านการใช้งาน เพราะด้วยเทคโนโลยีสมัยนี้ ทุกอย่างที่เป็นเรื่องการใช้งานตามทันกันได้หมดแล้วล่ะครับ
จุดยืนไม่ใช่เรื่องที่จะกำหนดกันได้ง่ายๆ... แต่ก็ไม่ยากเกินกว่าจะกำหนดเช่นกัน สำคัญที่การค้นคว้าหา ข้อมูล ครับ

เราต้องศึกษาตลาด ทั้งลูกค้า คู่แข่ง ตัวบริษัทเอง และสภาพสังคมปัจจุบันแล้วจึงค่อยกำหนดจุดยืนออกมา

โดยจุดยืนที่ดีจะมีลักษณะดังนี้
ชัดเจนไม่คลุมเครือและเข้าใจได้ง่ายว่าคืออะไร
เหมาะสมตรงตามความต้องการของลูกค้า
แตกต่าง มีความแตกต่างจากคู่แข่งในตลาด

ซึ่งจุดยืนสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ 2 แบบ คือ
จุดยืนของผลิตภัณฑ์ (Product Positioning)
จุดยืนขององค์กร (Corporate Positioning)

และเมื่อทำการสื่อสารออกไป จะไปในรูปแบบของ แบรนด์

ยกตัวอย่างเช่น ธนาคารกรุงไทย
จุดยืนขององค์กรคือ “Convenience หรือ ความสะดวก
ดังนั้นจุดยืนของผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ออกมาจะไม่หลุดจุดยืนขององค์กรเรื่องความสะดวก แต่ก็สามารถเพิ่มเติมสิ่งอื่นๆ ตามความเหมาะสมกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายเข้าไปได้ เช่น
KTB Netbank ที่เป็นผลิตภัณฑ์บริการทางการเงินผ่านอินเทอร์เน็ต เพิ่มเติมจุดยืนผลิตภัณฑ์ในเรื่อง ความทันสมัย เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่เข้ามา เป็นต้น 

จุดยืนเป็นสิ่งที่เราเป็นผู้กำหนดแต่จะชัดเจนหรือไม่ชัดเจน ก็อยู่ที่การนำไปทำต่อให้เป็นรูปธรรม

ผมเห็นหลายครั้งที่... บริษัทกำหนดจุดยืนได้ดี
แต่ไม่สามารถนำจุดยืนนั้น มาสร้างต่อได้จึงทำให้รู้กันเองแค่คนภายในบริษัท คนภายนอกไม่สามารถรับรู้ได้หรือรับรู้คนละแบบกับจุดยืนที่กำหนด
และผมก็เห็นหลายครั้งอีกเช่นกัน ที่บริษัทต่างๆ ไม่มีจุดยืน มีจุดยืนที่ไม่ชัดเจน หรือวางจุดยืนได้ไม่เหมาะสม จนทำให้บริษัทมีปัญหาในการแข่งขันระยะยาว

อย่างที่ผมกล่าวไป...
จุดยืนเปรียบได้กับ เมล็ดพันธ์ ที่เรานำมาปลูก
ถึงแม้เมล็ดพันธ์ดี (จุดยืนดี) แต่เลี้ยงไม่เป็น (นำจุดยืนมาขยายผลทางการตลาดต่อไม่เป็น) มันก็ไม่โต
ในทางกลับกัน ถึงแม้จะเลี้ยงดี ดูแลเก่ง (นำจุดยืนมาขยายผลทางการตลาดต่อได้ดี) แต่หากเมล็ดพันธ์ไม่ดี (จุดยืนไม่ดี) โตมาอาจจะไม่ใช้ต้นไม้ที่เราคาดหวังไว้เช่นกัน

เพราะฉะนั้น จุดยืน จึงเป็นเรื่องสำคัญที่
ทุกบริษัท ทุกแบรนด์ ทุกผลิตภัณฑ์ควรกำหนดให้เหมาะสม

แต่หากกำหนดแล้ว... ไม่ดี ไม่ตอบโจทย์ ไม่เป็นอย่างที่คาดหวัง เราก็สามารถที่จะ... ปรับเปลี่ยนจุดยืน (Re-Positioning)” ให้กลับมาเหมาะสมได้เช่นกันครับ

หวังว่าท่านผู้อ่านคงมีความรู้และเข้าใจในเรื่อง Positioning หรือ จุดยืน มากขึ้น... จนสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริงนะครับ ^^

Wikran M.

หมายเหตุ: บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ หนังสือ The Invisible Hat ถอดหมวก... เปิดความคิด ชีวิตและการตลาด



ติดตามบทความได้ทุกวันที่... 

วันอังคารที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2556

SWOT Analysis สำหรับการวิเคราะห์สถานการณ์ทางการตลาด

SWOT - เครื่องมือการวิเคราะห์ที่นักการตลาดต้องรู้และใช้เป็น...

การวิเคราะห์สถานการณ์มีความสำคัญมาก
ผมมักจะใช้ “SWOT เป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์สถานการณ์เสมอ
โดย SWOT ย่อมาจาก

Strength (จุดแข็ง) Weakness (จุดอ่อน) Opportunity (โอกาส) Threat (อุปสรรค)

จุดแข็งและจุดอ่อน... เป็นการวิเคราะห์ปัจจัยภายใน
โดยพิจารณาตัวเราหรือบริษัทเทียบกับคู่แข่งเป็นหลัก เช่น เทียบกันเรื่องแบรนด์ ผลิตภัณฑ์ บริการ ราคา สถานที่ การส่งเสริมการตลาด และคน เป็นต้น

โอกาสและอุปสรรค... เป็นการวิเคราะห์ปัจจัยภายนอก
โดยดูจากสภาพแวดล้อมภายนอก ตลาด และกลุ่มลูกค้าเป็นหลัก เช่น การเมือง เศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยี แนวโน้มตลาด การแข่งขัน ค่านิยมและพฤติกรรมของกลุ่มลูกค้า เป็นต้น

ยกตัวอย่างเช่น
บริษัทใหม่นำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารเสริมจากอเมริกา

จุดแข็ง: คุณภาพสูง, เป็นผลิตภัณฑ์ US Import มีความน่าเชื่อถือในหมู่คนไทยมาก
จุดอ่อน: แบรนด์ยังไม่เป็นที่รู้จัก, ราคาสูงเมื่อเทียบกับคู่แข่งที่มีอยู่แล้วในตลาด
โอกาส: แนวโน้มตลาดอาหารเสริมในประเทศเติบโตขึ้น  เฉลี่ย 20% ทุกปี
อุปสรรค: การแข่งขันภายในตลาดสูง และความควบคุมที่เข้มงวดของภาครัฐ โดยเฉพาะเรื่องการโฆษณา 

เมื่อเราวิเคราะห์ SWOT เสร็จแล้วต้องมาพิจารณาต่อดังนี้

จุดแข็งต้องนำมาเป็นจุดขาย และนำมาต่อยอดทางธุรกิจ
จุดอ่อนต้องแก้ไขจุดอ่อนให้ได้ หรือถ้าแก้ไม่ได้ก็ต้องหลีกเลี่ยงที่จะกล่าวถึง
โอกาสสิ่งที่เราใช้พิจารณาความเป็นไปได้ของธุรกิจ  แบรนด์ และผลิตภัณฑ์ที่เรากำลังจะทำ
อุปสรรคสิ่งที่เราใช้พิจารณาถึงปัญหาที่เราต้องพึงระวังเป็นพิเศษ ซึ่งต้องหาทางออกหรือทางแก้ปัญหาเตรียมไว้เสมอ

ซึ่งจุดแข็งและจุดอ่อนส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องที่เราควบคุมได้ แก้ไข ปรับปรุง พัฒนา หรือต่อยอดได้
ส่วนโอกาสและอุปสรรคจะเป็นเรื่องที่เราควบคุมได้ยาก ซึ่งเราต้องทำความเข้าใจ หาจังหวะใช้โอกาสให้เป็น และก้าวผ่าน หรือหลบหลีกอุปสรรคให้ได้

สุดท้ายจึงนำ จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และอุปสรรค

มาสรุปและจัดทำเป็นวัตถุประสงค์ เพื่อกำหนดกลยุทธ์ แผนดำเนินการ และการประเมินผล ในแผนงานต่อไป

ผมได้เพิ่มเติมตัวอย่างการทำ SWOT ไว้ที่คลิปตามด้านล่างนี้ หากสนใจลองรับฟังเพิ่มเติมนะครับ... 
Case Study: เปิดร้านอาหารญี่ปุ่น จะใช้ SWOT อย่างไรดี...


ติดตาม MarKeTing InDeed ClassRoom (MIC) ได้ทั้งหมด... ตั้งแต่ครั้งแรกจนถึงครั้งล่าสุดได้ที่ Link นี้ครับ...

ห้องเรียนการตลาด MarKeTing InDeed ClassRoom - Youtube
.
.
.
เป็นยังไงกันบ้างครับ... ผมหวังว่าคงนำ SWOT ไปวิเคราะห์ธุรกิจและการตลาดของเพื่อนๆ ได้กันนะครับ ^^

Wikran M.

หมายเหตุ: บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ หนังสือ The Invisible Hat ถอดหมวก... เปิดความคิด ชีวิตและการตลาด




ติดตามบทความได้ทุกวันที่... 

วันอาทิตย์ที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2556

การตลาด คือ... What Marketing is

การตลาดคืออะไร... มีหลายท่านถามผมบ่อย และสงสัยบทบาทและหน้าที่ของมันเป็นอย่างมาก...

วันนี้ผมเลยขอนำบทความตอนหนึ่งจากหนังสือ The Invisible Hat ถอดหมวก... เปิดความคิด ชีวิตและการตลาด 
มาอธิบายให้เห็นภาพชัดขึ้นครับ มาดูกันเลย
ทำไมปัจจุบันหลายคนต่างสนใจเรื่องการตลาด
การตลาดมีอะไรดี ???
การตลาดช่วยอะไรได้ ???
คำถามเหล่านี้ผมเจอบ่อยมากครับ
เลยขอตอบแบบที่คิดว่า ใช่ที่สุด นั่นก็คือ

การตลาด ช่วยสร้างเงินทั้งยอดขายและกำไร
การตลาด ช่วยสร้างลูกค้าทั้งระยะสั้นและระยะยาว
การตลาด ช่วยปกป้องเราจากการแข่งขันที่รุนแรง
การตลาดช่วยสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับเรา

ในเมื่อการตลาดเหมือนพระเอกสุดๆ ขนาดนี้
ทำไมทุกธุรกิจ... จะไม่ให้ความสำคัญกับการตลาดละครับ
ทั้งตัวเจ้าของธุรกิจเองที่ต้องหันมาเรียนรู้เรื่องการตลาด
รวมไปถึงการจ้างงานราคาแพงสำหรับลูกจ้างเซียนการตลาดทั้งหลาย
ก็ย้ำกันอีกครั้งยุคนี้การตลาดคือ พระเอกตัวจริง (จริงๆ)

เรื่องสำคัญต่อมาก็คือหลายคนรู้ว่า การตลาดสำคัญจริง
แต่จะมีสักกี่คน ที่เข้าใจการตลาดจริงๆ ว่า

การตลาดคืออะไร

ผมให้เวลาคิด 10 วินาที
การตลาดคือ การโฆษณา ประชาสัมพันธ์รึเปล่า ???
การตลาดคือ การขายรึเปล่า ???
การตลาดคือ เรื่องแบรนด์รึเปล่า ???
ที่กล่าวมาข้างต้น ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของการตลาด
แต่ยังไม่ใช่คำตอบที่ ชัดเจนและเหมาะสม ว่า… การตลาดคืออะไร

ในความคิดของผม
คำตอบที่สั้น กระชับ ชัดเจน และเหมาะสมที่สุด ก็คือ
 การตลาดคือ การตอบสนองความต้องการของลูกค้า
สั้นๆ และเข้าใจง่ายๆ แบบนี้ละครับ

แต่ถ้าอยากเข้าใจให้มากขึ้น... เพื่อที่จะนำไปประยุกต์ใช้ในการทำงานจริงได้... 
ต้องศึกษาต่อ โดยให้เน้นไปที่ 3 คำนี้ครับ

ลูกค้า ความต้องการ และการตอบสนอง

หากสนใจอยากรับฟังเรื่องการตลาดคืออะไรแบบละเอียดมากขึ้น... เชิญรับฟังได้จากคลิปด้านล่างนี้ได้เลยครับ



ติดตาม MarKeTing InDeed ClassRoom (MIC) ได้ทั้งหมด... ตั้งแต่ครั้งแรกจนถึงครั้งล่าสุดได้ที่ Link นี้ครับ...

ห้องเรียนการตลาด MarKeTing InDeed ClassRoom - Youtube
.
.
.
ก็มาจบที่ตรงนี้ครับ หวังว่าหลายๆ ท่านคงได้คำตอบดีๆ ไปแล้ว... ไว้บทความหน้า เราค่อยมาขยายความกันต่อกับเจ้า 3 คำนี้ึครับ... ลูกค้า ความต้องการ และการตอบสนอง ^^

Wikran M.

หมายเหตุ: บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ หนังสือ The Invisible Hat ถอดหมวก... เปิดความคิด ชีวิตและการตลาด



ติดตามบทความได้ทุกวันที่... 

วันพฤหัสบดีที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2556

The Invisible Hat ถอดหมวก... เปิดความคิด ชีวิตและการตลาด

ห่างหายจากการเขียนบล๊อกไปนานมากๆ...

เนื่องด้วยติดภารกิจเขียนหนังสือ + วิทยากร + ที่ปรึกษา + ทำงาน + ฯลฯ

ซึ่งหากมีจังหวะดีๆ จะกลับมาเขียนเรื่องราวการตลาดที่น่าสนใจต่อแน่นอนครับ...

และหากเพื่อนๆ ท่านใด อยากให้เขียนถึง เล่าถึง วิเคราะห์ถึงเรื่องไหน (ในมุมการตลาดนะครับ)... สามารถส่งข้อความมาทาง Inbox - FB ผมได้เลย... https://www.facebook.com/MarKeTingInDeeD

สำหรับในครั้งนี้... ผมมีผลงานเขียนหนังสือเล่มล่าสุดมาฝากครับ
หนังสือเล่มนี้... สำหรับคอการตลาดไม่ผิดหวังแน่นอน รวมถึงผมได้เขียนถึงแง่คิดในการใช้ชีวิตมาฝากด้วยเช่นกัน

สำหรับไอเดียหนังสือ The Invisible Hat เล่มนี้... มาจากความเชื่อที่ว่า คนเรามีหมวกที่มองไม่เห็น (The Invisible Hat) สวมใส่อยู่ทุกวัยทุกช่วงอายุ ซึ่งหมวกนั้นก็เปรียบได้กับ ตัวตน ความคิดของเรา... บางครั้งเราโดนคนอื่นใส่ให้บ้าง บางครั้งเราเลือกที่จะใส่เองบ้าง... สิ่งสำคัญคือ เรารู้ตัวหรือไม่ ว่า หมวกใบที่ใส่อยู่มันคือ สิ่งที่ใช่สำหรับเราจริงๆ รึปล่าว... ซึ่งเล่มนี้ ผมได้สอดแทรกมุมมองและความคิดที่สำคัญ ทั้งด้านชีวิตและการตลาดไว้มากพอสมควร... ลองติดตามกันดูครับ ^^

Wikran M.