วันจันทร์ที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2556

Marketing Trend 2014: 11 เทรนด์ที่นักการตลาดควรใส่ใจ

สำหรับปี 2014 ที่กำลังจะมาถึงนี้... มี Marketing Trend อะไรบ้างที่น่าสนใจสำหรับนักการตลาด


เรามาดูกันครับ...

1.) Consumers Expect More: 
     ผู้บริโภคคาดหวังกับแบรนด์ที่จะตอบสนองและส่งมอบสิ่งที่พวกเค้าต้องการมากขึ้น จะให้ดีส่งมอบอะไรที่เกินความคาดหมายได้เลยยิ่งดี

2.) Attention Must Be Paid to Brands:
     แบรนด์ต่างๆ ไม่เพียงแต่จะต้องเป็นที่รู้จักเท่านั้นว่า ขายสินค้าอะไร ให้บริการอะไร แต่ต้องทำให้ผู้คนรู้ด้วยว่า สินค้าและบริการนั้น มีความหมายและสำคัญยังไงกับผู้บริโภค

3.) Category is King:
     แบรนด์ต่างๆ จะไม่สามารถนำเสนอข้ามกลุ่มผลิตภัณฑ์ได้ พวกเค้าต้องมีความเชียวชาญในกลุ่มผลิตภัณฑ์นั้นๆ เช่น กลุ่มผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มเสื้อผ้า กลุ่มอาหาร กลุ่มรถยนต์ เป็นต้น

4.) Brands will Get Emotional:
     ในขั้นตอนการตัดสินใจเลือกแบรนด์ ผู้บริโภคจะใช้อารมณ์ในการตัดสินใจมากขึ้น แบรนด์ที่ประสบความสำเร็จจะสามารถบ่งบอกถึง อารมณ์ที่มีคุณค่า มีความหมาย และแตกต่างจากคู่แข่งในใจผู้บริโภคคืออะไร เช่น แบรนด์นี้ใช้แล้วเท่ แบรนด์นี้ใช้แล้วหรู แบรนด์นี้ใช้แล้วดูดี เป็นต้น

5.) Real Brand "Engagement" Defined:
     แบรนด์ต่างๆ ต้องใส่ใจในการสร้างความผูกผัน (Engagement) กับผู้บริโภคให้มากขึ้น เพื่อที่สร้างความจงรักภักดี ยอดขาย และกำไรในระยะยาว

6.) Targeting Becomes Personal:
     การกำหนดกลุ่มเป้าหมายต้องลงไปในระดับบุคคลมากขึ้น เพราะผู้บริโภคแต่ละรายมีความคาดหวังมากขึ้นในการได้รับการตอบสนองที่ดีที่สุดสำหรับพวกเค้า ทั้งในแง่ผลิตภัณฑ์ แบรนด์ และการสื่อสาร

7.) Digital Done Right:
     การตลาดดิจิตอล โดยเฉพาะการตลาดออนไลน์ พวก Social Network ต่างๆ จะมีความสำคัญมาก แบรนด์ต่างๆ ต้องใส่ใจมากขึ้นในการใช้เป็นช่องทางในการเข้าถึงผู้บริโภคในการสร้างความผูกผัน

8.) Content is King:
     การตลาดคอนเทนท์ หรือการตลาดสร้างเนื้อหาผ่านทางช่องทางดิจิตอลต่างๆ จะมีความสำคัญมากขึ้น แบรนด์ต่างๆ ต้องสร้างช่องทางออนไลน์ และใช้ช่องทางนั้นในการป้อนเนื้อหาเกี่ยวกับแบรนด์ รวมถึงรับฟังเนื้อหาจากผู้บริโภค และนำไปปรับปรุงพัฒนาแบรนด์ ซึ่งการสื่อสารจะต้องเป็นไปในลักษณะ 2 Way Communication อย่างแท้จริง

9.) Mobile Optimized:
     การตลาดผ่านสมาร์ทโฟนจะมีความสำคัญมากขึ้น ผู้บริโภคส่วนใหญ่ใช้เวลากับมือถือมากกว่าสื่อชนิดอื่น แบรนด์ที่สามารถสร้างเนื้อหาที่น่าสนใจผ่านสมาร์ทโฟน และใช้สมาร์ทโฟนเป็นช่องทางสื่อสารหรือรับบริการต่างๆ ได้ จะได้เปรียบแบรนด์อื่นๆ มาก

10.) Fewer Tedious Texts:
      เนื้อหาต่างๆ ที่นักการตลาดสร้างจะเป็นในรูปแบบข้อความน้อยลง และจะต้องใช้ภาพหรือวีดีโอที่น่าสนใจในการสื่อสารกับผู้บริโภคมากขึ้น ตัวอย่างที่ดีก็คือ Viral Marketing ในรูปแบบภาพหรือวีดีโอต่างๆ ที่ประสบความสำเร็จนั้นเอง

11.) Integration Intensification:
       การรวมกันทำตลาดระหว่างช่องทางและสื่อที่เคยทำมา (Traditional) กับช่องทางและสื่อดิจิตอล (Digital) จะมีความสำคัญมากขึ้น การเพิ่มน้ำหนักไปยังโลกดิจิตอลจะมีความสำคัญในการเข้าถึงคนรุ่นใหม่ แต่ก็ต้องบาลานซ์กับช่องทางและสื่อเดิมให้ดี ไม่งั้นอาจจะสูญเสียกลุ่มลูกค้าเดิมได้


จากเทรนด์ทั้งหมดสรุปได้ว่า...

"ผู้บริโภคมีความคาดหวังมากขึ้น มีความต้องการทางด้านอารมณ์มากขึ้น ซึ่งแบรนด์ต่างๆ จะต้องสร้างการรับรู้ในเรื่องภาพลักษณ์ และความผูกผันให้เกิดขึ้นกับกลุ่มเป้าหมาย โดยที่กลุ่มเป้าหมายก็ต้องมองให้ลึกลงไปในระดับบุคคลมากขึ้น และสุดท้ายการตลาดดิจิตอลจะมีความสำคัญมากในการเป็นช่องทางและสื่อในการเข้าถึงผู้บริโภคยุคนี้"

น่าสนใจทีเดียวครับ


Wikran M.

ปล. หัวข้อบทความนำมาจากนิตยสาร Forbes

วันพฤหัสบดีที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2556

Online Store Marketing: การตลาดร้านค้าออนไลน์

สวัสดีครับ ท่านผู้อ่านทุกท่าน... ช่วงหลังๆ มานี้ มีหลายท่านได้สอบถามผมมามากพอสมควรเรื่อง... อยากทำร้านค้าออนไลน์ให้ประสบความสำเร็จ


ผมเลยถือโอกาสนี้ ขอนำเสนอเรื่องราวของการตลาดสำหรับร้านค้าออนไลน์... โดยหวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่อท่านที่สนใจธุรกิจนี้อยู่ไม่มากก็น้อยครับ

มาเริ่มกันเลย...
.
.
.

#1 เริ่มต้นก้าวแรกที่ผลิตภัณฑ์ (Product)

หากเรามีความตั้งใจที่จะทำธุรกิจอะไรบางอย่างขึ้นมา... สิ่งที่จะเป็นคำถามแรกเสมอ คือ...

"เราจะขายอะไร ???"

นั้นหมายถึง ผลิตภัณฑ์อะไรที่เราจะขายให้กับผู้คน... ซึ่งผลิตภัณฑ์สามารถแบ่งได้เป็น 2 แบบใหญ่ๆ คือ

   - ผลิตภัณฑ์ที่จับต้องได้... เราจะเรียกว่า "สินค้า (Goods)"
   - ผลิตภัณฑ์ที่จับต้องไม่ได้... เราจะเรียกว่า "บริการ (Service)"

เช่น ขายครีมหน้าเด้ง อันนี้จะเป็นสินค้า เพราะเป็นผลิตภัณฑ์ที่จับต้องได้
       บริการล้างรถ อันนี้จะเป็นบริการ เพราะเป็นผลิตภัณฑ์ที่จับต้องไม่ได้

ในคำถามข้อนี้... หากเรายังไม่มีคำตอบ หรือมีแล้ว แต่ยังไม่แน่ใจ... ไม่เป็นไรครับ ผมมีคำถามสำคัญที่จะมาเป็นตัวช่วยให้เรานึกถึงผลิตภัณฑ์ที่จะขายออก

1.) เรามีความชื่นชอบ มีความหลงใหลในผลิตภัณฑ์อะไรเป็นพิเศษ ???

2.) เรามีความรู้ เรามีประสบการณ์ เรามีความถนัดกับผลิตภัณฑ์อะไรมากที่สุด ???

3.) เรามองว่า ผลิตภัณฑ์อะไรที่หากมีผู้อื่นมาเสนอขายให้กับเรา แล้วเราอยากได้ อยากซื้อทันที ???

สำหรับข้อแรก... เป็นการหาว่า ผลิตภัณฑ์ประเภทไหน ที่เรามีความชอบ มีความหลงใหล เช่น เป็นคนชื่นชอบรถ Big Bike มาก... อย่างนี้ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งที่อาจจะคิดได้หลายมุมว่า...

   - อยากขายรถ Big Bike
   - อยากเปิดบริการให้เช่ารถ Big Bike
   - อยากเปิดบริการรับซ่อมรถ Big Bike

ต่อมาข้อสอง... หากข้อแรกเรายังหาตัวเองไม่เจอว่าชอบหรือหลงใหลอะไรเป็นพิเศษ... เราก็สามารถคิดได้จากความรู้ที่เรามี ประสบการณ์ที่เคยทำงานมา หรือมีความถนัดในเรื่องใดๆ มานาน เช่น เรียนจบการตลาดมา และเป็นลูกจ้างทำงานด้านการตลาดมานาน มีประสบการณ์ มีผลงานด้านการตลาดมาเยอะ... อย่างนี้ก็อาจเปิดบริการรับเป็นที่ปรึกษาทางด้านการตลาด หรือเปิดเอเจนซี่คิดงานแคมเปญ โฆษณา และกิจกรรมการตลาดต่างๆ ได้ เป็นต้น

สุดท้ายข้อสาม... หากข้อหนึ่งและข้อสอง ยังคิดไม่ออก... ข้อสามจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ช่วยให้เราคิดได้ครับ เช่น เรามองว่า หน้าเราหรือหน้าเพื่อนเราโทรมมาก... หากมีผลิตภัณฑ์อะไรสักอย่างที่มาช่วยทำให้หน้าเราดีขึ้นได้จริง เราจะต้องซื้อแน่นอน เพราะลองมาหลายตัวแล้ว ไม่เวิร์ค... อย่างนี้ ก็ได้เป็นผลิตภัณฑ์บำรุงหน้า หรืออาหารเสริมบำรุงหน้าครับ

มาถึงตรงนี้... หากเราคิดผลิตภัณฑ์ที่จะขายได้หลายตัว... 

ไม่ต้องตกใจนะครับ... ไม่ได้ผิดแต่อย่างใด ยิ่งคิดได้เยอะเท่าไหร่ยิ่งดี... เพราะจะได้นำมาเป็นทางเลือกในการคัดกรองผลิตภัณฑ์ได้ครับ

ซึ่งในตอนหน้าเรามาดูกันต่อ... เรื่องการคัดกรองผลิตภัณฑ์ให้เหลือผลิตภัณฑ์ที่ดีที่สุด เหมาะกับเรามากที่สุด และเป็นไปได้ในการทำธุรกิจมากที่สุด ที่เราจะนำมาขายกัน

ช่วงนี้... ก็นั่งนึกๆ ผลิตภัณฑ์ที่จะขายกันให้ได้เยอะๆ ก่อนนะครับ ^^

สิ่งสำคัญคือ... ผมอยากให้นึกให้อยู่ในกรอบคำถามสามข้อที่ผมถามไปนะครับ เพราะแต่ละคำถามมีเหตุผลในตัวเอง ไม่อยากให้ฟุ้งคิดไปเยอะ แต่สุดท้ายเอามาคัดกรองแล้วใช้ได้น้อยครับ

Wikran M.

หมายเหตุ: อย่าเพิ่งตกใจนะครับว่า... แล้วบทความนี้เกี่ยวอะไรกับร้านค้าออนไลน์... ในส่วนของร้านค้าออนไลน์นั้นมีแน่นอนครับ... แต่ผมอยากให้เริ่มต้นให้ถูกต้องก่อน แล้วบทถัดๆ ไป จะเข้าเรื่องออนไลน์เองครับ 

วันเสาร์ที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

Marketing Campaign: โค้ก... เรื่องราวของการสร้าง Emotional ล้วนๆ

ในช่วงที่ผ่านมา... คงปฏิเสธลำบาก ถ้าจะบอกว่า ไม่เคยเห็นแคมเปญการตลาดของโค้ก ที่นำชื่อ สรรพนามหรือคำโดนใจมาเล่นบนแพ็กเกจจิ้งของโค้กเลยครับ

มาดูกัน...


แคมเปญนี้ มีชื่อว่า... Share a Coke ครับ

จริงๆ แล้ว มีมาสักพักที่ต่างประเทศแล้วครับ...



ถ้าพูดถึงความสำเร็จ... ผมบอกแทนได้เลยว่า ประสบความสำเร็จมาก... ทั้งด้านความดังและการขาย สังเกตไม่ยากครับ จากเพื่อนหรือคนรู้จักที่แชร์รูปชื่อตนเองบนกระป๋องโค้กมาให้ดูกันอย่างต่อเนื่อง... รวมถึงพื้นที่บนชั้นวางน้ำอัดลมใน 7-11 ก็แน่นมาก (เวลาผมสังเกตความดัง ผมจะดูจากหน้า Wall เฟสบุ๊คผมครับ... และเวลาที่ผมจะดูสินค้าประเภท Consumer Product โดยเฉพาะอะไรที่บริโภคง่ายๆ เช่น น้ำ ขนม ผมจะดูจากชั้นวางใน 7-11 ครับ ถ้าเยอะแสดงว่า ขายดี แต่ถ้าน้อย ก็แสดงว่า ขายได้น้อย)

ประเด็นที่น่าสนใจของแคมเปญนี้คือ... การใช้ Big Idea แคมเปญนี้ (ซึ่งผมเดาว่า ก็คงคล้ายๆ กับชื่อแคมเปญนี้แหละครับ Share your Coke to your world) แต่ปรับทางด้านรายละเอียด การลงมือปฏิบัติ หรือ Execution... ให้เข้ากับคนไทย... ดังเช่น เมืองไหนมีคำฮิตไหน เค้าก็จะใช้คำนั้น เช่น ออสเตรเลีย ฮิตคำว่า Mate ก็ใช้คำว่า Mate เป็นชื่อที่ใช้พิมพ์บนกระป๋องขายทั่วไป... บ้านเราก็จะเห็น แฟน สามี... เหล่านี้ ก็เป็นคำที่โอเคในบ้านเรา

แต่เบื้องหลัง... เชื่อเถอะครับว่า แต่ละประเทศที่นำแคมเปญนี้มาใช้ ต้องมีการทำวิจัย (Research) แน่นอนว่า ชื่ออะไร หรือคำอะไร ที่โดนใจกับกลุ่มเป้าหมายของพวกเค้า

ความน่าสนใจอีกประการของแคมเปญนี้คืออะไร... คำถามที่ตั้งขึ้นคือ 

"ทำไมแค่วางชื่อหรือคำบนกระป๋อง ก็สามารถสร้างความกระแส สร้างความดัง และเกิดยอดขายถล่มทลายขนาดนี้"

คำตอบก็คือ... มันเป็นเรื่องอารมณ์ หรือ Emotional ของคนในยุคนี้รึปล่าว... เราผูกผันกับแบรนด์โค้กมานานมาก (Brand Engagement) เราเห็นโค้กมาตั้งแต่เกิด ทานโค้กมาตั้งแต่เด็ก โตมาก็เห็นการปรับแพ๊คเกจจิ้งหลายครั้ง... แต่ไม่เคยเห็นการพิมพ์ชื่อของเราเอง พิมพ์ชื่อของเพื่อนเรา พิมพ์ชื่ออะไรก็ตามลงบนกระป๋อง... พอมีขึ้นมาปุ๊ป ก็เหมือนกับเราได้เป็นส่วนหนึ่งของโค้ก และแน่นอนเราก็อยากจะแชร์สิ่งนั้นต่อไป

ถ้าแบรนด์อื่นจะทำบ้างล่ะ... เป๊ปซี่ ทำได้ไหม... ทำได้ครับ แต่โดนโค้กถล่มแน่ เพราะโค้กเป็นต้นคิดไอเดียนี้และทำมานานแล้ว... เอส ทำได้ไหม... ทำได้ครับ แต่คนอาจจะไม่อิน เพราะ Brand Engagement ยังน้อยมากกับผู้คน

เหล่านี้แหละครับ... คือ การตลาดที่เจ๋งจริงๆ... ผมใช้คำว่า "เจ๋ง" ก็เพราะแคมเปญการตลาดที่ดี ต้องตอบจุดประสงค์การตลาดหลักได้ก่อนนั้นคือ การตลาดทำแล้ว ต้องเกิดยอดขายและกำไร โดยไม่เน้นการทำ Sales Promotion หรือลด แลก แจก แถม หรือการทำ Cut Price หรือตัดราคา... 

โดยการทำตลาดนั้น... ต้องทำแล้วเกิดแรงดึง เกิดเป็นแรงแม่เหล็ก ดึงดูดให้คนหมู่มากรู้จัก สนใจ ชื่นชอบ และเกิดการซื้อขึ้น (ไม่ใช่ การสร้างแรงผลัก โดยใช้ Sales ไปผลักสินค้า ขายของออกไป โดยไม่สนใจว่า ผู้คนจะรู้จัก สนใจ ชื่นชอบ หรืออยากซื้อหรือไม่) 

ส่วนเรื่องชื่อเสียง (Reputation) หรือฐานสมาชิก (Members) หรือกลุ่มลูกค้า (Customers) ก็มีความสำคัญเช่นกันครับ... แต่ถ้ามีแล้ว ไม่เกิดยอดขายและกำไรก็ไม่รู้จะทำไปทำไมครับ (แต่ถ้าตอบได้ว่า ช่วงแรกอาจจะไม่ได้ยอดขายหรือกำไรมากนัก แต่ระยะยาวปีหน้า 2 ปีหน้า 3 ปีหน้า จะดี... ถ้ามีเหตุมีผลรองรับจริงๆ ผมก็ว่ายัง โอเค นะ)

สุดท้ายแคมเปญโค้กนี้ให้อะไรกับเราในฐานะนักการตลาด... ก็เหมือนแคมเปญแม๊กนั่ม หรือแคมเปญที่ประสบความสำเร็จ โดยไม่เน้นการทำ Sales Promotion นั้นแหละครับ... มันบอกถึงการใช้ไอเดีย การใช้ความคิดสร้างสรรค์ ที่เมื่อนำมาทำตลาดแล้ว เวิร์คกับกลุ่มเป้าหมาย... สามารถสร้างความสนใจ สร้างความชื่นชอบ... จนสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มขึ้นในใจของผู้คนได้สำเร็จ (สังเกตดีๆ นะครับ ถ้าสร้างมูลค่าเพิ่มในใจผู้คนได้ โดยขายราคาเดิม พวกเค้าจะรู้สึกพึงพอใจ เพราะรู้สึกได้ว่า เมื่อซื้อหรือใช้แล้ว คุ้มค่ามากขึ้น)... ดึงดูดให้พวกเค้าอยากได้ผลิตภัณฑ์ขึ้นมาเอง... ซึ่งนี้แหละครับ คือ การตลาดที่มันเวิร์ค 

Wikran M.  

วันอังคารที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2556

Growth Strategy: กลยุทธ์การเจริญเติบโต

วันนี้เรามาคุยกันเรื่องกลยุทธ์การเจริญเติบโต หรือ Growth Strategy กันครับ...


ผมค่อนข้างชื่นชอบกลยุทธ์นี้เป็นพิเศษ
เพราะเวลาผมวางแผนธุรกิจหรือแผนการตลาด ต้องหาคำตอบให้ได้เสมอว่าทำอย่างไรถึงจะมียอดขายและกำไรเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาซึ่งกลยุทธ์การเจริญเติบโตสามารถช่วยหาคำตอบเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี

กลยุทธ์การเจริญเติบโต เปรียบได้กับกลยุทธ์ผลิตภัณฑ์ (Product Strategy) เพราะจะมองอยู่ 2 สิ่งควบคู่กันเสมอ คือ ผลิตภัณฑ์ (Product) และตลาด (Market)

กลยุทธ์การเจริญเติบโต ประกอบด้วย 4 กลยุทธ์ คือ

กลยุทธ์การเจาะตลาด (Market Penetration Strategy)
คือ การเพิ่มยอดขายโดยการเติบโตจากผลิตภัณฑ์เดิมในตลาดเดิมทำได้โดยใช้ Push Strategy (กลยุทธ์ผลัก) เช่น การทำโปรโมชั่น ลด แลก แจก แถม ผลักสินค้าออกไป และ Pull Strategy (กลยุทธ์ดึง) เช่น การทำโฆษณา ประชาสัมพันธ์ สื่อสารการตลาด ดึงดูดให้ผู้บริโภคเข้ามาซื้อเอง

กลยุทธ์การพัฒนาตลาด (Market Development Strategy)
คือ การเพิ่มยอดขายจากผลิตภัณฑ์เดิมในตลาดใหม่ ทำได้จาก การขยายกลุ่มลูกค้าใหม่ จากเคยขายแต่กับผู้บริโภค (B2C - Business to Consumer) ก็หันไปขายกลุ่มธุรกิจ (B2B - Business to Business) หรือหน่วยงานภาครัฐ (B2G - Business to Government) บ้าง รวมถึงการขยายจุดขายไปยังภูมิศาสตร์ใหม่ๆ เช่น เคยขายแค่ในกรุงเทพฯ ก็ขยายไปขายตลาดต่างจังหวัด หรือขยายออกไปขายต่างประเทศ

กลยุทธ์การพัฒนาผลิตภัณฑ์ (Product Development Strategy)
คือ การเพิ่มยอดขายจากการขายผลิตภัณฑ์ใหม่ในตลาดเดิม ซึ่งก็คือ การออกผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่น เบนซ์ออกรุ่นใหม่เร็วและบ่อยขึ้นมากจากแต่ก่อนนานๆ ถึงจะออก เพราะต้องการให้ยอดขายเติบโต และการออกกลุ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่น จากเดิมร้านขายแต่เสื้อกับกางเกง ก็เพิ่มสินค้ากระเป๋าและรองเท้า หรือการปรับ Packaging เล็ก กลาง ใหญ่ เป็นต้น

กลยุทธ์การเติบโตด้วยธุรกิจใหม่ (Diversification Strategy)
คือ การเพิ่มยอดขายจากการทำผลิตภัณฑ์ใหม่ในตลาดใหม่ ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 2 แบบคือ การเติบโตจากธุรกิจใหม่ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเดิม (Concentric Diversification) เช่น บริษัทขายรองเท้าแตะอยู่ ก็หันมาขายรองเท้ากีฬาบ้าง หรือหันมาขายถุงเท้าด้วย เป็นต้น และ การเติบโตจากธุรกิจใหม่ที่ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเดิมเลย (Conglomerate Diversification) เช่น บริษัทขายมือถืออยู่ อยู่ก็หันไปทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น

ทั้ง 4 กลยุทธ์ที่กล่าวไป... ล้วนเป็นกลยุทธ์สำคัญในการผลักดันให้ยอดขายเพิ่มขึ้น
แน่นอนว่าเมื่อยอดขายเพิ่ม กำไรก็ควรจะเพิ่มตามด้วย

แต่สิ่งที่ต้องระวังคือเรื่องค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น จนทำให้กำไรลดลงจากการทำทั้ง 4 กลยุทธ์นี้ เพราะฉะนั้นต้องคำนวณกันดีๆ ครับ ไม่ใช่ยอดขายเพิ่ม แต่กำไรลดนี่ก็ไม่คุ้มที่จะทำครับต้องดูกันดีๆ

นอกจากกลยุทธ์หลักๆ ที่กล่าวไป...
ยังมีกลยุทธ์การเจริญเติบโตเพิ่มเติม ดังนี้

Vertical Integration Strategy (กลยุทธ์การรวมกันในแนวดิ่ง)
ที่แบ่งเป็น Backward Integration (การรวมแบบย้อนกลับ) เช่น บริษัทเปิดร้านขายลูกชิ้นอยู่ ซื้อของมาจากโรงงานลูกขิ้น บริษัทอยากเติบโตจึงเข้าไปซื้อกิจการ ซื้อหุ้น หรือเซ็นสัญญาร่วมกับโรงงาน เพื่อธุรกิจจะได้เติบโตจากการมีโรงงาน เป็นต้นและ Forward Integration (การรวมแบบไปข้างหน้า) จากตัวอย่างเดิม บริษัทเป็นโรงงานลูกชิ้น... ก็เติบโตได้จากการมีร้านขายลูกชิ้นเป็นของตัวเองเช่นกัน

Horizontal Integration Strategy (กลยุทธ์การรวมกันในแนวราบ)
เช่น การจับมือกันกับคู่แข่ง เพื่อจะให้ธุรกิจเติบโตไปพร้อมๆ กัน อย่างประเทศตะวันออกกลางที่จับมือกันตั้งราคาและขายน้ำมัน เป็นต้น

กลยุทธ์การเจริญเติบโต (Growth Strategy) เป็นกลยุทธ์ที่มีประโยชน์มาก หากเข้าใจและใช้ได้เก่งการสร้างยอดขายและผลกำไรจะไม่เป็นปัญหาอีกต่อไปครับ ^^ 


Wikran M.
หมายเหตุ: บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ หนังสือ The Invisible Hat ถอดหมวก... เปิดความคิด ชีวิตและการตลาด

ติดตามบทความได้ทุกวันที่... 

วันจันทร์ที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2556

Competitive Strategy: ว่าด้วยเรื่องกลยุทธ์การแข่งขัน

กลยุทธ์การแข่งขัน... เป็นสิ่งสำคัญที่หากจะทำตลาดก็ควรศึกษาไว้... มาดูกันครับ


สำหรับการทำธุรกิจย่อมต้องเจอการแข่งขัน
ไม่การแข่งขันกันทางตรง ก็ทางอ้อม
เพราะฉะนั้นการรู้ เข้าใจ และใช้กลยุทธ์การแข่งขันเป็น
ย่อมทำให้เกิดความได้เปรียบในการแข่งขัน (Competitive Advantage)

ซึ่ง กลยุทธ์การแข่งขัน (Competitive Strategy)”ประกอบด้วย 4 กลยุทธ์ ดังต่อไปนี้

กลยุทธ์ความแตกต่าง (Differentiation Strategy)
สร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง เช่น เรื่องแบรนด์ที่มีภาพลักษณ์ดีกว่า และผลิตภัณฑ์มีคุณภาพที่ดีกว่า  โดยมักใช้กับตลาดขนาดใหญ่ (หมายถึง ตลาดที่มีผู้บริโภคเป็นจำนวนมาก)  เช่น iPhone และรถเบนซ์ เป็นต้น

กลยุทธ์ต้นทุนต่ำ (Cost Leadership Strategy)
เป็นผู้นำด้านต้นทุน โดยสามารถกำหนดราคาได้ต่ำกว่าตลาด ใช้กับตลาดขนาดใหญ่เช่นกัน เช่น ห้างโลตัส เป็นต้น

กลยุทธ์ความแตกต่างเฉพาะกลุ่ม (Differentiation Focus Strategy)
สร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง เช่น เรื่องคุณภาพที่ดีกว่า ราคาที่สูงกว่า ใช้กับตลาดเฉพาะกลุ่ม (หมายถึง ตลาดที่มีผู้บริโภคมีความต้องการเฉพาะเจาะจงและมีจำนวนน้อย)  เช่น  เสื้อผ้าเกรฮาวด์ เป็นต้น

กลยุทธ์ต้นทุนต่ำเฉพาะกลุ่ม (Cost Focus Strategy)
สร้างต้นทุนที่ต่ำกว่า โดยกำหนดราคาได้ต่ำกว่าตลาด ใช้กับตลาดเฉพาะกลุ่มเช่นกัน เช่น โรงแรม B2 โรงแรมราคาประหยัด แต่ห้องดี เป็นต้น

การเลือกกลยุทธ์การแข่งขันต้องดูตามความเหมาะสมของศักยภาพและความสามารถของบริษัท

ถ้าเป็น บริษัทขนาดเล็ก ทุนน้อย ความสามารถยังไม่มากก็ควรเลือกใช้ กลยุทธ์ความแตกต่างเฉพาะกลุ่ม

ถ้าเป็น บริษัทขนาดปานกลาง ทุนพอประมาณ และมีความสามารถก็สามารถเลือกใช้ กลยุทธ์ความแตกต่าง กลยุทธ์ความแตกต่างเฉพาะกลุ่มหรือ กลยุทธ์ต้นทุนต่ำเฉพาะกลุ่ม ได้ตามความเชี่ยวชาญและเหมาะสมของบริษัท

ถ้าเป็น บริษัทขนาดใหญ่ ทุนเยอะ และมีความสามารถมากสามารถเลือกใช้ได้ทุกกลยุทธ์ โดยควรเน้นที่ กลยุทธ์ความแตกต่าง หรือ กลยุทธ์ต้นทุนต่ำ เป็นหลัก เพราะจะได้ตลาด Mass ซึ่งยอดขายและกำไรสูงกว่าตลาดเฉพาะกลุ่ม

การแข่งขัน ณ ปัจจุบันแข่งกันที่เรื่อง ความแตกต่าง
เมื่อวางแผนกลยุทธ์การแข่งขันบริษัทใดที่ไม่ได้คิดถึงเรื่องความแตกต่าง ย่อมมีโอกาสสูงที่ผู้บริโภคจะไม่สนใจใช้   แบรนด์ ผลิตภัณฑ์ หรือบริการจนทำให้บริษัทนั้น ไม่สามารถแข่งขันและอยู่ในตลาดได้ต่อไป


ดังนั้นเรื่อง ความแตกต่าง จึงเป็นสิ่งที่นักการตลาดมองข้ามไม่ได้จริงๆ ครับ

Wikran M.
หมายเหตุ: บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ หนังสือ The Invisible Hat ถอดหมวก... เปิดความคิด ชีวิตและการตลาด

ติดตามบทความได้ทุกวันที่... 

วันอาทิตย์ที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2556

BCG Matrix: วิเคราะห์สถานการณ์การตลาด

วันนี้เรามาดูกันเรื่อง การวิเคราะห์การตลาดด้วย BCG Matrix กันครับ...


สำหรับการวางแผนและบริหารงานการตลาด
สิ่งสำคัญที่ต้องพิจารณาเสมอคือ ผลิตภัณฑ์ แบรนด์ สถานที่จัดจำหน่าย และพนักงานขาย เพราะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดยอดขาย...

“BCG Matrix” คือ... เครื่องมือที่ผมมักใช้ประจำในการวิเคราะห์
(BCG ย่อมาจาก Boston Consulting Group)

ลักษณะของ BCG Matrix คือการแบ่งกลุ่มผลิตภัณฑ์
โดยใช้อัตราการเจริญเติบโตและส่วนแบ่งการตลาด พิจารณาควบคู่กันซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้

STAR: กลุ่มดาวรุ่ง
เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีอัตราการเจริญเติบโต (ยอดขายสูง) และส่วนแบ่งการตลาดสูง... ผลิตภัณฑ์อยู่ในช่วงกำลังเติบโต มีความต้องการในตลาดมาก... ทำรายได้และกำไรให้กับบริษัทได้อย่างโดดเด่นส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่

CASH COW: กลุ่มวัวให้นม
เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีอัตราการเจริญเติบโตของยอดขายต่ำ แต่ส่วนแบ่งการตลาดสูง... ผลิตภัณฑ์เข้าสู่ขั้นเจริญเติบโตเต็มที่ แต่ยังสามารถทำกำไรได้เรื่อยๆส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์ที่คงตัวมานานของบริษัท

QUESTION MARK: กลุ่มน่าสงสัย
เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีอัตราการเจริญเติบโตของยอดขายสูง แต่ส่วนแบ่งการตลาดต่ำ... มักเกิดขึ้นกับผลิตภัณฑ์ในช่วงแนะนำหรือเพิ่งเริ่มเข้าสู่ตลาดบริษัทต้องกำหนดระยะเวลาการทำตลาดของผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้ให้ชัดเจนถ้าทำตลาดสำเร็จจะกลายเป็น STAR แต่ถ้าล้มเหลวจะกลายเป็น DOG

DOG: กลุ่มสุนัข
เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีอัตราการเจริญเติบโตของยอดขายต่ำและส่วนแบ่งการตลาดต่ำ... เป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่ทำกำไรและมักจะขาดทุน บริษัทควรจะตัดผลิตภัณฑ์นี้ออกไป หรือทำการปรับปรุงครั้งใหญ่กับผลิตภัณฑ์นี้
ถ้าเราสามารถแบ่งกลุ่มได้ตามนี้ จะรู้ว่า

ถ้าผลิตภัณฑ์ใดเป็น STAR ก็ควรจะรีบเร่งทำการตลาดให้เติบโตยิ่งๆ ขึ้นไป
ถ้าผลิตภัณฑ์ใดเป็น CASH COW ไม่ควรจะทำการตลาดแบบใช้เงินมาก... ประคองไว้ก็พอ
ถ้าผลิตภัณฑ์ใดเป็น QUESTION ควรจะกำหนดระยะเวลาในการทำตลาดให้ชัดเจน จะได้รู้ว่าผลิตภัณฑ์นั้นจะเป็น STAR หรือ DOG… ไม่ควรปล่อยไปเรื่อยๆ
ถ้าผลิตภัณฑ์ใดเป็น DOG ควรจะพิจารณายกเลิกทันที แต่ส่วนใหญ่จะเสียดายและยังคงทำตลาดต่อ... ซึ่งจะสร้างผลขาดทุนต่อไปให้กับบริษัท

นอกจากเรื่องผลิตภัณฑ์แล้ว...
BCG Matrix ยังสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ดีกับ...

การแบ่งกลุ่มแบรนด์ การแบ่งกลุ่มสถานที่จัดจำหน่าย และการแบ่งกลุ่มบุคลากร


การแบ่งกลุ่มเหล่านี้ มีความสำคัญมากครับ... 
เพราะจะช่วยให้แก้ปัญหาได้ตรงจุด... 
และทำให้ตัดสินใจทำการตลาดได้อย่างถูกต้อง ถูกที่ ถูกตัว และถูกคนครับ ^^

Wikran M.
หมายเหตุ: บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ หนังสือ The Invisible Hat ถอดหมวก... เปิดความคิด ชีวิตและการตลาด


ติดตามบทความได้ทุกวันที่... 

วันอาทิตย์ที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2556

Product Marketing... ผลิตภัณฑ์ดีมีชัยไปกว่าครึ่ง !!!

ผมมักเปรียบการทำตลาดเหมือนการสร้างหนังเรื่องหนึ่ง...

หนังหรือภาพยนตร์จะประสบความสำเร็จได้ก็วัดจากยอดขายตั๋วหนังและชื่อเสียงของหนัง...

ที่ผมชอบเปรียบกับหนังก็เพราะ... หนังนั้นสร้างและปล่อยออกมาในช่วงเวลาหนึ่งและก็จบไป... ไม่มีแก้บท ไม่มีแก้ตัว ไม่มียืดเยื้อ (ก็เปรียบเหมือนกับผลิตภัณฑ์ที่ปล่อยออกไปสู่ตลาดแล้ว ปรับยากครับ)... ซึ่งทุกอย่างต้องถูกสร้างมาอย่างปราณีตและต้องมั่นใจว่าจะประสบความสำเร็จได้แน่นอน

ซึ่งในความเป็นจริง... ก็มีทั้งหนังที่ทำเงินและไม่ทำเงิน... แต่ผมเชื่อว่าทั้งผู้สร้าง ผู้กำกับหนัง และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับหนังเรื่องนั้น ล้วนแล้วแต่อยากให้หนังประสบความสำเร็จทั้งชื่อเสียงและเงินทอง

พอมาเปรียบกับบริษัทและนักการตลาดก็เหมือนกัน... เวลาคิดจะออก Product หรือผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อสร้างยอดขาย สร้างกำไร เจาะตลาดใหม่ สร้างกลุ่มลูกค้าใหม่ หรือเห็นโอกาสใหม่ๆ ก็ตาม... บริษัทเปรียบได้กับผู้สร้างหรือผู้ออกทุนให้ทำ Product... นักการตลาดเปรียบได้กับผู้กำกับหนังที่ต้องหาข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล วางแผนกลยุทธ์ และแผนดำเนินการ... เพื่อทำให้ผลิตภัณฑ์นั้น เมื่อออกไปสู่ตลาดไปแล้ว เป็นไปตามเป้าหมายที่บริษัทหรือผู้สร้างตั้งไว้

หนังที่สำเร็จในบ้านเรา... ล่าสุดที่เพิ่งสร้างปรากฏการณ์ใหม่ไปกับยอดเงิน 1,000 ล้านบาท... ใช่ครับ หนังเรื่อง "พี่มาก พระโขนง" นั่นเอง



พี่มาก พระโขนง หากวิเคราะห์ในมุมนักการตลาดแล้ว (ซึ่งผมมักจะวิเคราะห์แบบใช้ส่วนผสมการตลาดหรือ Marketing Mix เข้ามาจับ) สิ่งที่ทำให้เกิดความสำเร็จมากๆ คือ...

Product หรือผลิตภัณฑ์ครับ... ด้วยผลิตภัณฑ์ที่แตกต่างและสร้างสรรค์ โดยการนำเรื่องแม่นาค พระโขนง มากลับมุมมองเป็นเล่าเรื่องพี่มาก พระโขนง และที่สำคัญคือ ทำออกมาได้ถูกจริตคนไทยมากๆ นั่นคือ ตลก + หนังผี... ลองคิดดูสิครับ บ้านเราผู้บริโภคหนังชอบหนังแนวไหน

ต่อมาที่ต้องชมต่อคือ... Promotion หรือการส่งเสริมการตลาด อันนี้ก็ทำได้ดีมาก... เจาะไปที่กลุ่มวัยรุ่น โดยการใช้สื่อ Online มีการปล่อยคลิปเรียกกระแสออกมาก่อน ทำได้ดีจนเกิดกระแสปากต่อปากในโลกออนไลน์ เกิดเป็น Viral Marketing ที่ประสบความสำเร็จมากๆ คนดู คนวิวกันมหาศาล... และเมื่อกลุ่มวัยรุ่นชอบใจ ฮิตมาก ใครไม่ดูเชย... กลุ่มต่อไปที่ส่งผลถึงก็คือ กลุ่มคนทำงาน... ซึ่งหลายคนยังคิดว่าตนเองวัยรุ่นอยู่หรือยังอยากเป็นวัยรุ่นอยู่ก็ตามมา... ที่นี้เมื่อกลุ่มคนทำงานตามมา กลุ่มที่ตามต่อก็คือ กลุ่มครอบครัว ทั้งพี่ ป้า น้า อา คุณพ่อ คุณแม่ อยากดูกันหมด เพราะคนรอบข้างบอกหนังสนุก หนังดี จนไม่ดูไม่ได้แล้ว... จนลุกลามเป็นพี่มากฟีเวอร์ที่คนไทยทั้งประเทศไม่ดูไม่ได้แล้ว...

ในส่วนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น Price (ราคา) Place (สถานที่จัดจำหน่าย) People (คนให้บริการ) Process (ขั้นตอนการบริการ) และ Physical Evidence (สภาพแวดล้อมทางกายภาพ)... ล้วนไม่มีความแตกต่างจากหนังเรื่องอื่น... ราคาตั๋วเท่ากัน โรงหนังที่ดูก็เหมือนกัน มีจำนวนเท่ากัน คนขายตั๋ว คนให้บริการก็เหมือนกัน ขั้นตอนการซื้อตั๋ว การบริการ และการดูหนังก็เหมือนกัน และสภาพโรงหนังที่ดูก็เหมือนกับหนังเรื่องอื่นเช่นกัน ดังนั้นส่วนผสมการตลาดอื่นๆ จึงไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความสำเร็จ หรือ Key Success Factor

ดังนั้นคงพอมองเห็นภาพแล้วว่า... ยุคนี้ถ้าอยากทำตลาดให้ประสบความสำเร็จ ผลิตภัณฑ์จะต้องดีจริง เจ๋งจริงก่อน และการส่งเสริมการตลาดหรือการสื่อสารจะเป็นตัวที่ตามมา... เพราะหากผลิตภัณฑ์ดี แต่สื่อสารไม่เป็น อันนี้จะน่าสงสารมากๆ ครับ... แต่ในทางกลับกัน ถ้าผลิตภัณฑ์ธรรมดา แต่สื่อสารเก่งมาก ดีเยี่ยม ก็อาจทำตลาดได้ยากเช่นกัน เพราะคนจะซื้อมาลอง แต่พอรู้ว่า ธรรมดา ก็จะไม่กลับมาซื้อซ้ำ ไม่เกิดการบอกต่อ และที่แย่ไปกว่านั้นคือ เกิดการแชร์ข้อมูลกับเพื่อนๆ ว่าผลิตภัณฑ์ธรรมดาไม่ได้เป็นไปอย่างที่คาดหวังไว้ครับ
ดังนั้นหากจะทำตลาด... ผมอยากให้ใส่ใจกับเรื่องผลิตภัณฑ์มากๆ... ผลิตภัณฑ์ที่ดี ที่แตกต่าง ที่มีความคิดสร้างสรรค์ ที่ตอบโจทย์ลูกค้าและผู้บริโภค... เหล่านี้แหละครับ คือจุดสำคัญที่จะทำให้การทำตลาดประสบความสำเร็จ

แต่ก็เหมือนที่ผมบอกตอนต้นนะครับว่า การทำตลาดนะเหมือนการสร้างหนัง... เหมือนนะครับ แต่ไม่ใช่เรื่องเดียวกันไปซะหมด... หนังจะเน้นที่ผลิตภัณฑ์ (เนื้อเรื่อง บท ตัวแสดง ฯลฯ) และการส่งเสริมการตลาด (การสื่อสาร โฆษณา ประชาสัมพันธ์ ส่งเสริมการขายต่างๆ)... แต่การทำตลาด แน่ๆ คือ เน้นที่ผลิตภัณฑ์และการส่งเสริมการตลาดเหมือนกัน แต่ก็มีส่วนอื่นๆ ที่ต้องพิจารณาด้วย เช่น ภาพลักษณ์ ราคา ช่องทางจัดจำหน่าย คน ขั้นตอน และสภาพแวดล้อมต่างๆ... โดยนักการตลาดต้องรู้ว่า อะไรคือ Key Success Factor ในการทำตลาดของตลาดนั้นๆ... โดยจะต้องศึกษาจากภาพรวมตลาด พฤติกรรมผู้บริโภค กลุ่มเป้าหมาย และลูกค้า... ว่าพวกเค้าต้องการอะไร... บางตลาดต้องการแต่ราคาต่ำ ก็ต้องเน้นที่ราคา... บางตลาดแข่งกันที่ความสะดวกในการเข้าถึง ก็ต้องเน้นที่ช่องทางฯ... บางตลาดเน้นที่ภาพลักษณ์ ก็ต้องเน้นการสร้างแบรนด์... บางตลาดเน้นที่การบริการ ก็ต้องเน้นที่คน... บางตลาดเน้นที่ความรวดเร็วในการให้บริการ ก็ต้องเน้นที่ขั้นตอนการบริการ เป็นต้น

เมื่อเรียงลำดับความสำคัญของ Key Success Factor แล้ว... ก็มาเน้นพัฒนาต่อเป็นกลยุทธ์การตลาด วางแผนดำเนินงาน... ลงมือปฏิบัติตามแผน ตรวจสอบ และวัดผล... ก็จะรู้ว่า เราวางแผนและทำตลาดมาได้ถูกต้องและเหมาะสมหรือไม่ครับ

สุดท้าย... เชื่อผมเถอะครับ ลูกค้า ผู้บริโภคยุคนี้ ฉลาด มีข้อมูลและความรู้กันมาก... Product ที่ธรรมดา ที่ไม่แตกต่าง ทำตลาดยากครับ เพราะผู้คนรู้ทัน... ยิ่งถ้าราคาเท่ากัน ใกล้เคียงกันด้วยแล้วละก็ ยิ่งยากเข้าไปอีกครับ เพราะไม่รู้เลยว่าสาเหตุใด ทำไมพวกเค้าถึงจะมาซื้อของเรา... แต่หาก Product ดี แตกต่าง สร้างสรรค์ ตอบโจทย์ ทำการสื่อสารไปถึงกลุ่มเป้าหมายได้ดี และรู้ถึง Key Success Factor อื่นๆ ที่ต้องเน้นในการทำตลาด... เพียงเท่านี้ ผมให้ 70% เลยครับว่า... คุณมีโอกาสที่จะทำตลาดได้สำเร็จ... ส่วนอีก 30% ผมเผื่อไว้ ในกรณีที่นักการตลาดไม่รู้จักแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า หรือไม่รู้จักดำเนินการปรับปรุงพัฒนาให้ทันท่วงที เวลาลงมือทำตลาดจริง... การทำตลาดก็อาจจะไม่สำเร็จได้เช่นกันครับ

Wikran M.

ติดตามบทความได้ทุกวันที่... 

วันจันทร์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2556

IMC: หลักการการสื่อสารการตลาดแบบครบวงจร

วันนี้เรามาทำความเข้าใจกับเรื่องการสื่อสารการตลาดกันครับ...


การสื่อสารการตลาดก็คือ Promotion… ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของส่วนผสมการตลาด

ถ้าเป็นศัพท์ที่นักการตลาดใช้กันจะเรียก... การสื่อสารการตลาด ว่า... “Marketing Communication”  และมักเรียกกันสั้นๆ ว่า... “Marcom หรือ มาร์ค่อม ครับ 

การสื่อสารการตลาดมีความสำคัญมากเพราะต่อให้เรามีผลิตภัณฑ์ที่ดี การบริการที่ดี ราคาที่เหมาะสม สถานที่จัดจำหน่ายดี

แต่ถ้าไม่มีการสื่อสารการตลาดที่ดีคนก็จะไม่รู้จัก ไม่รู้ว่าเราเป็นใคร ขายอะไร และเราดีอย่างไร

ยิ่งถ้าคิดจะสร้างแบรนด์ แต่ทำการสื่อสารการตลาดไม่เป็นละก็การสร้างแบรนด์ให้สำเร็จแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย

การสื่อสารการตลาด ปัจจุบันใช้หลัก “IMC” ที่ย่อมาจาก “Integrated Marketing Communication” หรือ การสื่อสารการตลาดแบบครบวงจร

IMC หลายคนมักเข้าใจผิดว่าคือ...
การใช้... เครื่องมือสื่อสารการตลาด (IMC Tools) หลายๆ ตัวเข้าด้วยกัน ใช้ให้ครบ ใช้ให้เยอะที่สุด
ซึ่งจริงๆ แล้วถือว่า... ผิดหลัก IMC อย่างแรง

IMC ถ้าอธิบายหลักให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ
การเลือกและใช้... เครื่องมือสื่อสารการตลาด ที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ดีที่สุด...
โดยต้อง สื่อสารไปในทิศทางเดียวกันและต่อเนื่อง
จนผู้คนรู้จัก รับรู้ และนึกถึง

เครื่องมือสื่อสารการตลาดประกอบด้วย
การโฆษณา, การประชาสัมพันธ์, การตลาดทางตรง, การส่งเสริมการตลาด ณ จุดขาย, พนักงานขาย, การส่งเสริมการขาย (โปรโมชั่น), การจัดกิจกรรม, การเป็นสปอนเซอร์ และการตลาดออนไลน์

นักการตลาดต้องรู้ข้อดีและข้อเสียของเครื่องมือแต่ละตัว และนำมาประยุกต์ใช้ผสมผสานร่วมกันให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

ที่สำคัญต้องดูตัวเองด้วยว่า ควรใช้งบประมาณสื่อสารการตลาดประมาณเท่าไหร่ จึงจะเหมะสม

ยกตัวอย่างเช่น
Q1: อยากทำให้ กลุ่มคนทำงานในเมืองรู้จักจะทำยังไง
A1: ทำโฆษณาวิทยุ โฆษณาหนังสือพิมพ์ ติดตั้งป้ายบิลบอร์ด ติดป้ายโฆษณาตรงรถไฟฟ้า BTS และรถโดยสารประจำทาง จัดกิจกรรมตามตึกออฟฟิส และทำสื่อออนไลน์


ถ้าทำได้อย่างนี้รับรองคนทำงานในเมืองรู้จักแน่เพราะดักหมดทุกทางตั้งแต่เช้ายันเย็น 

ขึ้นรถฟังวิทยุ วิ่งไปตามท้องถนนเจอป้ายบิลบอร์ด ป้ายจากรถไฟฟ้า BTS และรถโดยสารประจำทาง ไปถึงออฟฟิสอ่านหนังสือพิมพ์ก็เจอ เข้าเวบไซด์ก็เจออีก ลงมาพักทานข้าวเที่ยวก็เห็นบูธกิจกรรมกลับบ้านก็เห็นตามทางขากลับอีก
  
คำถามที่สำคัญต่อมาคือ
Q2: ใช้งบประมาณเท่าไหร่
A2: คิดคร่าวๆ ถ้าทำต่อเนื่องสัก 1 ปี แบบจัดหนัก จัดเต็ม น่าจะใช้งบประมาณ 100 ล้านบาทขึ้นไป (รวมค่าผลิต ค่าพรีเซ็นเตอร์ ค่าครีเอทีฟ และอีกสารพัดค่าใช้จ่าย)

Q3: บริษัทควรจะใช้งบประมาณสื่อสารการตลาดขนาดนั้นไหม
A3: ถ้าผลิตภัณฑ์เป็น Mass ก็น่าคิดต่อว่าจะคุ้มไหม เทียบงบประมาณตรงนี้เป็นเปอร์เซ็นกับยอดขาย (ส่วนใหญ่ไม่เกิน 10% เช่น ใช้ 100 ล้านบาท ก็ต้องขายให้ได้ 1,000 ล้านบาท ในปีนั้น) แต่ถ้าผลิตภัณฑ์ไม่ใช่ Mass เป็นเฉพาะกลุ่มรับรองทำไป ก็อยู่ไม่ได้ โดนค่าใช้จ่ายกินหมดครับ

สุดท้ายถ้าดูแล้วไม่คุ้มที่จะใช้งบประมาณเยอะขนาดนั้น
คราวนี้ก็อยู่ที่ความเก่งของคนวางแผนสื่อแล้วล่ะครับว่า...

จะใช้งบประมาณเท่าไหร่และอย่างไร จึงจะเหมาะสม

ผมกระซิบให้ครับสื่อออนไลน์ที่กำลังเข้าถึงกลุ่มวัยรุ่นและคนในเมืองตอนนี้ถือว่า... ถูกและมีประสิทธิภาพมากครับ

เรื่อง IMC นอกจากจะต้องพิจารณาเครื่องมือสื่อสารการตลาดให้เหมาะสมทั้งกับตัวเราและกลุ่มเป้าหมายแล้ว
ยังมีเรื่องไอเดีย ข้อความและองค์ประกอบต่างๆ ที่จะสื่อออกไปด้วยว่าควรเป็นอย่างไรผู้คนถึงจะจดจำ และเกิดกระแส ความดัง หรือ Impact ในกลุ่มเป้าหมาย

บ่อยครั้งที่ผมเห็น... นักการตลาดตกม้าตาย เช่น
วางแผนสื่อเก่งมาก แต่ไม่ได้มาดูเรื่องไอเดียใหญ่หรือไอเดียหลัก (Big Idea) หรือข้อความหลัก (Key Message) และองค์ประกอบ* ที่ต้องการจะสื่อทำไปทำมา ผู้คนจำโฆษณาได้ จดจำแบรนด์ได้ แต่จำข้อความที่ต้องการจะสื่อไม่ได้

*องค์ประกอบ ในที่นี้หมายถึงจะต้องใช้พรีเซ็นเตอร์มาช่วยไหม เอกลักษณ์ของแบรนด์สื่อออกไปยังไง เช่น โลโก้ สี ฟอนท์ การวางรูปแบบ และเพลงประกอบ เป็นต้น

การทำการสื่อสารการตลาด... เป็นเรื่องที่ต้องลงรายละเอียดให้มากนะครับ เพราะว่าเป็นตัวที่ใช้เงินค่อนข้างเยอะ
ถ้าทำงานเป็นลูกจ้างอาจจะไม่ต้องคิดมาก ก็อาจใช้ได้ตามงบประมาณที่ผู้บริหารให้มาเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

แต่ถ้าเป็นเจ้าของธุรกิจเองละก็... รับรองว่าจะลงรายละเอียดแบบละเอียดที่สุดเสมอ...

เพราะเจ้าของธุรกิจจะรู้ดีเสมอว่า… 
เงินทองมันหายาก จะใช้ก็ต้องใช้ให้เป็น ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดเสมอ... จริงไหมครับ

Wikran M.
หมายเหตุ: บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ หนังสือ The Invisible Hat ถอดหมวก... เปิดความคิด ชีวิตและการตลาด


ติดตามบทความได้ทุกวันที่... 

วันเสาร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2556

Sales Promotion: คิดอะไรไม่ออก... บอกโปรโมชั่น ลด แลก แจก แถม !!!

วันนี้สิ่งที่อยู่คู่กับคนไทยในการทำตลาดมาโดยตลอดก็คือ โปรโชั่น... ลด แลก แจก แถมต่างๆ ครับ

บริษัท แบรนด์ นักการตลาด... หากคิดอะไรไม่ออก แต่อยากกระตุ้นให้เกิดยอดขายขึ้นมาเร็วๆ แรงๆ... ล้วนเลือกใช้บริการเจ้าโปรโมชั่นนี้กันหมด

แต่ก่อนจะเข้าเรื่องผมอยากชี้แจงรายละเอียดกันสักนิดในส่วนของเจ้าโปรโมชั่นนี้ครับ... 

โปรโมชั่นที่เรามักเรียกกัน... จริงๆ มาจาก Sales Promotion หรือการส่งเสริมการขาย... แต่เรียกกันย่อๆ เรียกกันเร็วๆ จึงเหลือเพียง Promotion หรือโปรโมชั่น... แต่เป็นอันเข้าใจตรงกันว่า มันคือ การลด แลก แจก แถม

ในหลักการตลาดจริงๆ แล้ว... หากเอยถึงโปรโมชั่นเฉยๆ มันจะเป็น Promotion ที่อยู่ในส่วนผสมการตลาด (Marketing Mix) ซึ่งมันคือ "การส่งเสริมการตลาด" ที่มีเครื่องมือสื่อสารการตลาดรวมอยู่ด้วยมากมาย... ไม่ว่าจะเป็น โฆษณา (Advertising) ประชาสัมพันธ์ (PR, Public Relation) การตลาดทางตรง (Direct Marketing) การจัดกิจกรรม (Event) การเป็นสปอนเซอร์ (Sponsorship) การส่งเสริมการตลาด ณ จุดขาย (P.O.P, Point of Purchase) พนักงานขาย (Personal Selling) การตลาดออนไลน์ (Online Marketing) และการส่งเสริมการขาย (Sales Promotion)

แต่เพื่อไม่ให้สับสนและไม่ต้องไปนั่งจำใหม่หรือเรียกใหม่... สำหรับบทความนี้ เราจะเรียกเจ้า Sales Promotion ว่า "โปรโมชั่น หรือการลด แลก แจก แถม" มาดูกันครับ...

ในการทำโปรโมชั่นนั้นมีอยู่หลายวิธีด้วยกัน...

1.) ลด (Discount)... เป็นการลดราคาจากราคาปกติ ที่นิยมกันคือ ลดเป็น % เช่น ร้านเสื้อผ้าลด 50% บ้าง 70% บ้าง จากราคาป้าย และนอกจากนี้ก็มีให้เป็นคูปองส่วนลด เช่น คูปองลด 200 บาท (แต่พออ่านตรงหมายเหตุดีๆ ก็จะมีบอกไว้ว่า ต้องซื้อครบ 1,000 บาท ขึ้นไป)... การลดราคา ส่วนใหญที่ทำเพื่อล้างสต๊อกเก่าและเพื่อเพิ่มยอดขายในรุ่นที่ขายไม่ดี รวมถึงกระตุ้นให้ผู้คนซื้อเลย ไม่ต้องคิดเยอะ ไม่งั้นหมดช่วงโปรโมชั่น เช่นกันครับ   


2.) แลก (Exchange)... จะเป็นไปได้หลายแบบ เช่น แสตมป์ 7-11 เมื่อซื้อของก็จะได้แสตมป์ และเราก็สามารถเอาแสตมป์ไปแลกรับของได้ที่ 7-11 และบัตรเครดิตใช้บัตรได้แต้ม Bonus Points สะสมแต้ม แล้วนำไปแลกรับของรางวัลต่างๆ รวมถึงร้านกาแฟที่มีบัตรสะสมแต้ม สะสมครบก็นำมาแลกกาแฟ เป็นต้น... สังเกตได้ว่า การแลกจะมีการใช้สิ่งอ้างอิงเช่น แสตมป์ หรือ Bonus Points มาเป็นตัวกลางในการทำการแลกเสมอ เพื่อกันไม่ให้ไปใช้ได้ที่ร้าน แบรนด์ หรือผลิตภัณฑ์อื่น


3.) แจก... ในการแจกบ้านเราจะเน้นที่การชิงโชค (Lucky Draw) เพื่อแจกของรางวัล เช่น อิชิตัน เปิดใต้ฝา ส่ง SMS ลุ้นทุกวัน (สุดยอด เร้าใจจิงๆ ^^) การแข่งขัน (Contest) แข่งขันเพื่อได้ของรางวัลก็ถือเป็นโปรโมชั่นอย่างหนึ่งเช่นกัน เช่น เลย์ จัดแข่งขันผู้คิดสูตร ใครชนะได้เงินรางวัล เป็นต้น  รวมถึงการแจกของตัวอย่าง (Sampling) ในช่วงออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อให้เกิดการทดลองใช้... การชิงโชคในบ้านเราแบรนด์ไหน ผลิตภัณฑ์ไหน ให้ของรางวัลถึงใจ มีวิธีการชิงโชคใหม่ๆ (เน้นง่ายและรวดเร็วเป็นหลัก) และมีการทำสื่อสารการตลาดได้ครอบคลุมเพียงพอ... ผมมั่นใจครับ ว่ายอดพุ่งแน่นอน !!!


4.) แถม... แถมก็จะมีหลายแบบ เช่น การแถมของพิเศษเมื่อซื้อครบ เมื่อใช้บริการ เมื่ออยู่ในงาน เมื่ออยู่ในช่วงโปรโมชั่น... ของที่แถมนี้ เราจะเรียกว่า ของ Premium ครับ นอกนั้นอาจมีการแถมของแบบใช้ผลิตภัณฑ์แถมเอง เช่น ซื้อโค้ก 2 แพ๊ค แถม 1 แพ๊ค รวมถึงการแถมเงินคืน (Cash Back) เมื่อซื้อครบ ก็แถมเงินคืน เป็นต้น การแถมก็เป็นโปรโมชั่นอีกหนึ่งอย่างที่ถูกใจคนไทยเป็นอย่างดี... บางคนที่ซื้อเพราะของแถม ก็มีให้เห็นบ่อยๆ ครับ


นอกจากการทำโปรโมชั่นกับผู้บริโภคแล้ว... โปรโมชั่นยังสามารถทำได้กับร้านค้าหรือคู่ค้า (Trade) ด้วย เช่น การให้ของรางวัลพิเศษเมื่อสั่งซื้อครบ ขายของได้ถึงเป้าบ้าง เลยเป้าบ้าง เราจะเรียกว่า Incentive ซึ่งรางวัลก็มีตั้งแต่ เงิน ทอง พาไปเที่ยวต่างประเทศ เป็นต้น และมีอีกแบบคือ การให้เงินเมื่อขายของได้ แล้วแบ่ง % ที่ขายได้ให้ เราจะเรียกว่า Commission ครับ เช่น ของขาย 100 บาท ถ้าร้านค้าขายได้ จะให้ 3% หรือ 3 บาท เป็นต้น
.
.
.
โดยสรุปนักการตลาดทำโปรโมชั่นไปเพื่อกระตุ้นให้เกิดการซื้อ การทดลองใช้ โดยมีจุดประสงค์คือ...

Buy Now และ Buy More... กล่าวคือ ทำโปรโมชั่นไปแล้ว ต้องเกิดการซื้อเดี๋ยวนี้ และซื้อมากขึ้น

แต่หากทำไปแล้ว... ไม่เกิดทั้ง 2 อย่างที่กล่าวไป... ก็แสดงว่าโปรโมชั่นที่เราทำมีปัญหา เช่น ทำการสื่อสารโปรโมชั่นไปไม่ทั่งถึงหรือไม่ถึงกลุ่มเป้าหมาย โปรโมชั่นที่เราทำไม่สามารถดึงดูดให้ผู้คนสนใจหรือผู้คนรู้สึกเฉยๆ ไม่ได้รู้สึกคุ้มค่ากว่า พิเศษกว่าช่วงเวลาปกติ หรือวิธีการที่เราทำโปรโมชั่นอาจซับซ้อนเกินไป เข้าใจยาก เป็นต้น

โปรโมชั่นเป็นเครื่องมือสื่อสารการตลาด (IMC Tools) ที่ทรงประสิทธิภาพมาก... และถูกจริตหรือเข้ากับความต้องการของคนไทยที่ชอบลุ้น ชอบของฟรี อยากรวยเร็วๆ ได้เป็นอย่างดี... แต่ก็อีกเช่นกัน โปรโมชั่นถ้าทำบ่อยๆ ทำถี่ๆ ก็เหมือนการเล่นแร่แปรธาตุ สุดท้ายหากตัวผลิตภัณฑ์ไม่ดีจริง... คนซื้อแล้ว ใช้แล้ว แต่ไม่ประทับใจ ไม่เกิดการซื้อซ้ำในช่วงเวลาขายปกติ... อย่างนี้ในการทำตลาดระยะยาวก็จะเกิดปัญหาแน่นอน...  ระวังๆ คิดเผื่ออนาคตกันไว้ด้วยนะครับ

Wikran M.

ติดตามบทความได้ทุกวันที่...